นางสาวปารมี บุญโท
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่6/6 เลขที่18
โรงเรียนพิมานพิทยาสรรค์

วันอังคารที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เดือนรอมฎอน



شهر رمضان
เดือนรอมฎอน
ramadom 4

เขียนโดย อ.ยูซุฟ นภากร
เดือนรอมฎอน เป็นเดือนที่ 9 ตามการนับเดือนของอาหรับ ซึ่งนับตามระบบจันทรคติ  อิสลามให้ความสำคัญกับเดือนรอมฎอน และถือว่าเป็นเดือนที่มีความประเสริฐมากกว่าเดือนอื่นๆ เนื่องจากเป็นเดือนที่อัลกุรอานถูกประทานลงมา และในเดือนรอมฎอนอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงกำหนดให้มุสลิม ถือศีล-อดด้วย
อัลลอฮฺ (ซ.บ.)  กล่าวว่า
2_185 copy
เดือนรอมฎอนคือเดือนที่อัลกุรอานถูกประทานลงมา เพื่อเป็นสิ่งนำทางสำหรับมนุษย์ และเป็นเครื่องแบ่งแยกความถูกผิด ดังนั้น ผู้ใดที่เข้าสู่เดือนรอมฎอน ให้เขาถือศีล-อด      (อัลบะกอเราะฮ์ / 185)
รู้ได้อย่างไรว่าเข้าสู่เดือนรอมฎอนแล้ว ?
       ในแนวทางของอิสลาม กำหนดให้ 1 เดือนมี 29 วัน และกำหนดให้การเห็นเดือนเสี้ยวเมื่อครบ 29 วันแล้ว เป็นการเริ่มต้นเดือนใหม่ หากไม่เห็นเดือนเสี้ยวก็ให้นับต่อจนครบ 30 วัน แล้วจึงขึ้นเดือนใหม่ ดังนั้นแต่ละเดือนจึงมี 29 หรือ 30 วัน   เดือนรอมฎอนก็เช่นกัน จะเข้าสู่เดือนรอมฎอนเมื่อมีผู้เห็นเดือนเสี้ยว หากไม่เห็นก็จะนับเดือนชะบานให้ครบ 30 วัน
       ท่านนบี (ซ.ล.) กล่าวว่า
قَالَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : الشَّهْرُ تِسْعٌ وَعِشْرُونَ فَإِذَا رَأَيْتُمْ الْهِلاَلَ فَصُومُوا وَإِذَا رَأَيْتُمُوهُ فَأَفْطِرُوا فَإِنْ غُمَّ عَلَيْكُمْ فَاقْدِرُوا لَهُ    مسلم
 หนึ่งเดือนมี 29 วัน เมื่อพวกท่านเห็นเดือนเสี้ยว ก็ให้เริ่มถือศีล-อด และเมื่อเห็นเดือนเสี้ยว ก็ให้ยุติการถือศีล-อด หากมีสิ่งบดบังมองไม่เห็นเดือนเสี้ยว ก็ให้นับให้ครบ 30 วัน"     (ฮะดิษมุสลิม)
       ดังนั้น เมื่อใดที่แน่ชัดว่าเข้าสู่เดือนรอมฎอนแล้ว ก็จำเป็นต้องเริ่มต้นการถือศีล-อด
หลักเกณฑ์เรื่องการเห็นเดือน
       1.  ต้องมีการดูเดือน เพราะการถือศีล-อดจะเริ่มต้นหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการเห็นเดือน  ท่านนบี (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า
صُوْمُوْا لِرُؤْيَتِهِ وَأَفْطِرُوْا لِرُؤْيَتِهِ ... [الحديث]
ท่านทั้งหลายจงถือศีล-อด เนื่องจากการเห็นเดือนเสี้ยว และยุติการถือศีล-อดก็เนื่องจากการเห็นเดือนเสี้ยว  (อัลฮะดิษ)
       2.  ไม่จำเป็นต้องเห็นเดือนด้วยตาของตนเองทุกคน สามารถรับข่าวการเห็นของผู้อื่นที่มั่นใจและตรวจสอบได้ว่าถูกต้อง  ตามที่ปรากฏในฮะดิษ ดังนี้
عَن ابْنِ عُمَرَ رَضِيَ الله ُعَنْهُمَا قَالَ : تَرَاءَى النَّاسُ الْهِلاَلَ ، فَأَخْبَرْتُ رَسُوْلَ اللهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ أَنِّي رَأَيْتُهُ ، فَصَامَ  وَأَمَرَ النَّاسَ بِصِيَامِهِ .  أبوداود
มีรายงานจากอิบนิอุมัร กล่าวว่า มีคนเห็นเดือนเสี้ยว แล้วฉันได้บอกข่าวนี้กับท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) ว่าฉันได้เห็นเดือนเสี้ยวแล้ว ท่านก็ได้เริ่มถือศีล-อด แล้วสั่งให้ผู้คนถือศีล-อดด้วย    (ฮะดิษอบูดาวุด)
       จากฮะดิษบทนี้แสดงให้เห็นว่า ท่านนบี (ซ.ล.) ยอมรับข่าวการเห็นเดือน และปฏิบัติตามข่าวนี้ด้วยการถือศีล-อด พร้อมสั่งให้ผู้คนปฏิบัติด้วย
3.  หากไม่มีการเห็นเดือน ให้นับวันของเดือนนั้นต่อไปให้ครบ 30 วัน  ดังปรากฏในฮะดิษ ท่านนบี (ซ.ล.) กล่าวว่า
قال رسول الله صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : ... فَإِنْ غُبِّيَ عَلَيْكُمْ فَأَكْمِلُوا عِدَّةَ شَعْبَانَ ثَلاَثِينَ .[ البخاري ]
 หากมีสิ่งบดบังทำให้ไม่เห็นเดือน ให้นับจำนวนวันของเดือนชะบานให้ครบ 30 วัน      (ฮะดิษบุคอรี)
[1] การยอมรับข่าวการเห็นเดือนเสี้ยวของท่านนบี (ซ.ล.) นั้น ท่านไม่ได้ถามถึงเรื่องระยะทาง, ความใกล้ไกลเพื่อเอามาเป็นเงื่อนไขว่าจะรับข่าวนั้นหรือไม่ ถ้าหากว่ารับข่าวจากคนไกลที่อยู่คนละดินแดนไม่ได้ ท่านนบี (ซ.ล.) จะต้องชี้แจงไว้ให้ทราบ เพราะเป็นหน้าที่ของท่านที่จะต้องบอกกล่าวชี้แจงโดยเฉพาะในเรื่องที่สำคัญ เช่น เรื่องการทำอิบาดะฮฺ จากความเข้าใจนี้จึงตรงกับความเห็นของนักวิการการส่วนใหญ่ (  الجمهور )  ที่เห็นตรงกันว่า สามารถรับข่าวการเห็นเดือนได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าเป็นคนละประเทศกัน
الصـيام
การถือศีล-อด 
       การถือศีล-อด  หมายถึง  การงดจากการกิน , การดื่ม  และงดสิ่งต่างๆ ตามที่อิสลามกำหนด ในช่วงเวลาตั้งแต่แสงอรุณขึ้น จนถึงดวงอาทิตย์ตก
ความประเสริฐของการถือศีล-อด
       มีหลักฐานจากฮะดิษของท่านนบี (ซ.ล.)  ยืนยันเรื่องความประเสริฐของการถือศีล-อด  ดังนี้
[ 1 ] قَالَ رسول الله صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : إِنَّ فِي الْجَنَّةِ بَابًا يُقَالُ لَهُ الرَّيَّانُ يَدْخُلُ مِنْهُ الصَّائِمُونَ يَوْمَ الْقِيَامَةِ لاَ يَدْخُلُ مِنْهُ أَحَدٌ غَيْرُهُمْ يُقَالُ أَيْنَ الصَّائِمُونَ فَيَقُومُونَ لاَ يَدْخُلُ مِنْهُ أَحَدٌ غَيْرُهُمْ فَإِذَا دَخَلُوا أُغْلِقَ فَلَمْ يَدْخُلْ مِنْهُ أَحَدٌ .   [ البخاري ]
       1.  ท่านนบี (ซ.ล.) กล่าวว่า  “แท้จริง สำหรับสวรรค์นั้นจะมีประตูทางเข้าอยู่ทางหนึ่งที่มีชื่อว่า  “อัรรอยยาน”  ในวันกิยามะห์ผู้ที่จะได้เข้าประตูนี้คือ ผู้ถือศีล-อด จะไม่มีผู้อื่นได้เข้า โดยจะมีการเรียกหาว่า  “บรรดาผู้ถือศีล-อด อยู่ที่ไหน?  พวกเขาก็จะ แสดง ตัวออกมา แล้วเมื่อพวกเขาได้เข้าประตูนี้ไปแล้ว ประตูนี้ก็จะปิดไม่ให้ผู้อื่นได้เข้าไปอีก”    (ฮะดิษบุคอรี)
[ 2 ] عَنْ أَبِي أُمَامَةَ قَالَ أَتَيْتُ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَقُلْتُ مُرْنِي بِعَمَلٍ يُدْخِلُنِي الْجَنَّةَ ؟ قَالَ : عَلَيْكَ بِالصَّوْمِ فَإِنَّهُ لاَ عِدْلَ لَهُ ، ثُمَّ أَتَيْتُهُ الثَّانِيَةَ فَقَالَ : عَلَيْكَ بِالصِّيَامِ .  (أحمد)
2.  รายงานจากอบูอุมามะห์  กล่าวว่า  ฉันได้ไปหาท่านนบี (ซ.ล.) แล้วกล่าวว่า โปรดสั่งให้ฉันทำอะไรสักอย่างหนึ่งที่จะทำให้ฉันได้เข้าสวรรค์  ท่านนบี (ซ.ล.) กล่าวว่า  “ท่านต้องถือศีล-อด เพราะไม่มีอะไรจะมาเทียบเท่าได้เลย”  หลังจากนั้นฉันก็มาถามอีกเป็นครั้งที่สอง  ท่านก็ตอบเหมือนเดิม  (ฮะดิษอะหมัด)
       [ 3 ] قال رسول الله صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : لاَ يَصُوْمُ عَبْدٌ يَوْماً فيِ سَبِيْلِ اللهِ إلاَّ بَاعَدَ اللهُ بِذَلِكَ الْيَوْمِ النَّارَ عَنْ وَجْهِهِ سَبْعِيْنَ خَرِيْفاً .  ( رواه الجماعة)
      3.  ท่านนบี (ซ.ล.) กล่าวว่า  “คนๆ หนึ่งที่ถือศีล-อดหนึ่งวันตามแนวทางที่อัลลอฮ์กำหนด  พระองค์จะให้เขาห่างไกลจากไฟนรกถึง 70 ปี ด้วยเหตุของการถือศีล-อดในวันนั้น”  ( รายงานไว้ทุกอิหม่าม ยกเว้นอบูดาวุด)
[ 4 ] قال رسول الله صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : مَنْ صَامَ رَمَضَانَ إِيْمَاناً وَاحْتِسَاباً غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِه .( أحمد)
4.  ท่านนบี (ซ.ล.)  กล่าวว่า  “ผู้ใดถือศีล-อดในเดือนรอมฎอนด้วยการมีศรัทธาเชื่อมั่น และมุ่งหวังการตอบแทน  ความผิดของเขาจะได้รับการอภัย”     ( ฮะดีษอะหมัด)
องค์ประกอบหลักของการถือศีล-อด 
       การถือศีล-อดจะเป็นการถือศีล-อดที่ถูกต้องได้  จะต้องมีองค์ประกอบ  2  ประการด้วยกัน  คือ
       1.  มีความตั้งใจ  หรือเจตนาจะถือศีล-อด
      2.  มีการงดจากการกินและการดื่ม ตลอดจนข้อห้ามต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ ในช่วงเวลาตั้งแต่รุ่งอรุณ  จนถึงดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า
ผู้ที่ศาสนากำหนดให้ถือศีล-อด 
       ผู้ที่ต้องถือศีล-อด  คือ  มุสลิมที่บรรลุศาสนภาวะ , มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์
       สำหรับผู้ที่ได้รับการผ่อนผัน ไม่ต้องถือศีล-อด  ได้แก่ เด็ก , คนชรา , คนป่วย , คนเดินทาง , สตรีที่มีรอบเดือน , สตรีที่มีเลือดหลังการคลอดบุตร  , สตรีที่มีครรภ์  หรือกำลังอยู่ในช่วงเวลาให้นมลูก
ประเภทของผู้ที่ได้รับการผ่อนผัน
       1.  ผู้ที่ไม่ต้องถือศีล-อด และไม่ต้องชดใช้  ได้แก่  คนเสียสติ  และเด็กที่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะ  (ในกรณีที่เป็นเด็กสมควรที่ผู้ปกครองจะสั่งใช้ให้ฝึกฝนการถือศีล-อด ตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อสามารถทำได้เมื่อถึงวัยที่บรรลุศาสนภาวะ) 
       2.  ผู้ที่ไม่ต้องถือศีล-อด  และจำเป็นต้องถือศีล-อดชดใช้ในวันอื่น  ได้แก่
              2.1  ผู้ป่วยที่ไม่ใช่การป่วยแบบเรื้อรัง
              2.2  คนเดินทาง
              3.3  สตรีที่กำลังมีประจำเดือน
              3.4  สตรีที่กำลังมีเลือดหลังการคลอดบุตร
       3.  ผู้ที่ไม่ต้องถือศีล-อด  และจำเป็นต้องจ่ายฟิตยะห์  ได้แก่
              3.1  คนชรา
              3.2  คนป่วยที่มีอาการเรื้อรังยาวนาน
              3.3  ผู้ใช้แรงงานหนัก
              3.4  หญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมลูก
การจ่ายฟิตยะห์ชดเชยการถือศีล-อด  คือ  การให้อาหารแก่คนยากจน  1  คน  แทนการถือศีล-อด  1  วัน 
 การปฏิบัติตนในการถือศีล-อด
       1. มีความตั้งใจจะทำการถือศีลอดในวันรุ่งขึ้น
       2.  รับประทานอาหารสะโฮร
            -  อาหารสะโฮร จะเป็นสิ่งใดก็ได้ จะรับประทานมาก หรือน้อยก็ได้ หรือแม้แต่เพียงดื่มน้ำ ก็ถือว่าเป็นอาหารสะโฮรได้
            -  เวลาของสะโฮร เริ่มตั้งแต่เที่ยงคืน จนถึงแสงอรุณขึ้น
            -  ส่งเสริมรับประทานอาหารสะโฮรในช่วงท้ายของเวลา (ใกล้เวลาศุบฮิ)
       3.  รีบละศีล-อดเมื่อเข้าเวลามักริบ
          เมื่อได้เวลามักริบ ควรรีบละศีล-อดทันทีโดยไม่รอช้า สมควรละ ศีล-อดด้วยอินทผลัมก่อนรับประทานอาหารอื่น หากสามารถทำได้  และให้เป็นจำนวนคี่  หากไม่มีอินทผลัม ก็ให้ละศีล-อดด้วยน้ำก่อน  แล้วจึงรับประทานอาหารอื่นๆ
       4.  งดเว้นการกระทำไร้สาระ หรือสิ่งที่สวนทางกับคำว่า ถือศีล-อด
               เพราะการถือศีล-อดไม่ใช่เพียงการอดอาหาร และเครื่องดื่มเท่านั้น แต่ต้องงดเว้นจากสิ่งไม่ดีต่างๆ ด้วย
       5.  ส่งเสริมให้แปรงฟัน และทำความสะอาดช่องปากในช่วงถือศีล-อด
       6.  อ่านและศึกษาอัลกุรอาน
       7.  ขอดุอาอฺมากๆ
       8.  ทำอิบาดะฮ์มากๆ โดยเฉพาะช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน
สิ่งที่อนุโลมให้กระทำได้ในขณะถือศีล-อด 
       1.  อาบน้ำ แช่น้ำ หรือดำน้ำ
       2.  เขียนตา  -  หยอดตา
       3.  การจูบที่ยังสามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้
       4.  ฉีดยา
       5.  กรอกเลือด
       6.  การกลั้วคอ  และการสูดน้ำเข้าจมูก  (แต่ต้องระวังมากๆ )
       7.  สิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น ฝุ่น , ควัน , กลิ่น
       8.  การสูดดมสิ่งที่มีกลิ่นหอม เช่น ดมดอกไม้ , น้ำหอม
       9.  การทาครีมที่ผิวหนังของร่างกาย
สิ่งที่ทำให้เสียศีล-อด 
       สิ่งที่ทำให้เสียศีล-อด แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
       1.  สิ่งที่ทำให้เสียศีล-อด และจำเป็นต้องถือศีล-อดชดใช้ด้วย ได้แก่
              -  กิน หรือดื่มโดยเจตนา (หากเกิดจากการลืมไม่ทำให้เสียศีล-อด)
              -  การทำให้อาเจียนโดยเจตนา  (หากอาเจียนเองไม่ต้องถือศีล-อดชดใช้)
              -  การมีเลือดประจำเดือน หรือเลือดหลังการคลอดบุตร
             -  การทำให้เกิดการหลั่งอสุจิโดยเจตนา  (หากไม่เกิดจากการเจตนา ถือว่าไม่เสียศีล-อด เช่น นอนหลับฝันร่วมประเวณี)
              -  การกลืน กินสิ่งที่ไม่ใช่อาหารลงสู่ลำคอ
              -  ผู้ที่เจตนาละศีล-อด
       2.  สิ่งที่ทำให้เสียศีล-อด และจำเป็นต้องถือศีล-อดชดใช้ พร้อมจ่ายกัฟฟาเราะฮฺด้วย ได้แก่  การร่วมประเวณีในเวลากลางวันของเดือนรอมฎอน
       กัฟฟาเราะฮฺ  คือ  การปล่อยทาส 1 คน , หากไม่สามารถทำได้ ก็ให้ถือศีล-อด  2 เดือนติดต่อกัน , หากไม่สามารถทำได้ ก็ให้เลี้ยงอาหารคนยากจน 60 คน
การถือศีล-อดชดใช้
       เมื่อมุสลิมคนใดถือศีล-อดไม่ครบ 1 เดือน เขาจำเป็นต้องถือศีล-อดชดใช้ ตามจำนวนวันที่ขาดไป โดยสามารถถือศีล-อดชดใช้เมื่อใดก็ได้หลังจากเดือนรอมฎอนผ่านไปแล้ว โดยจะถือแบบติดต่อกันไป ตามจำนวนวันที่ขาด  หรือจะถือศีล-อดแบบไม่ติดต่อกันก็ได้
ผู้ที่เสียชีวิตลง และขาดการถือศีล-อด 
       เมื่อมุสลิมที่ถือศีลอดไม่ครบ แล้วเสียชีวิตลง ทายาทของเขาสามารถเลี้ยงอาหารแก่คนยากจน ทดแทนการถือศีล-อดของเขาได้ หรือจะถือศีล-อดแทนให้เขา ตามจำนวนวันที่ขาดไป ก็สามารถทำได้

 صـلاة التراويح
 การละหมาดตะรอเวี๊ยะห์
ละหมาดตะรอเวี๊ยะฮ์  หมายถึง  การละหมาดที่กระทำในค่ำคืนของเดือนรอมฎอนหลังจากละหมาดอิชาอฺแล้ว  จะเรียกชื่อว่า  “ตะรอเวี๊ยะห์”  หรือ เรียกว่า “กิยามุรอมฎอน” ก็ได้
รูปแบบการละหมาดตะรอเวี๊ยะห์
      การละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ กระทำหลังจากละหมาดอิชาอฺแล้ว  โดยให้ละหมาดทีละ 2 ร็อกอะห์แล้วให้สลาม  เมื่อครบจำนวนแล้ว ก็ให้ละหมาดวิเต็ร
จำนวนร็อกอะฮ์ของการละหมาดตะรอเวี๊ยะห์
      ตามที่มีปรากฏจากฮะดิษหลายบทระบุว่า ท่านนบี (ซ.ล.) เคยละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ จำนวน 8 ร็อกอะห์  และละหมาดวิเต็รจำนวน 3 ร็อกอะฮฺ รวมเป็น 11 ร็อกอะห์  และมีรายงานว่า มีซ่อฮาบะห์ กระทำด้วยจำนวน 8 ร็อกอะห์เช่นกัน เช่น ท่านอุบัย อิบนิ กะอฺบิน  ดังนั้น จำนวน 8 ร็อกอะห์นี้  คือ  ซุนนะห์ของท่านนบี (ซ.ล.)
      ต่อมาได้มีรายงาน บันทึกว่า ในสมัยค่อลีฟะห์ คือ สมัยของท่านอุมัร , ท่านอุษมาน และท่านอะลี  มีผู้คนละหมาดตะรอเวี๊ยะห์เป็นจำนวน 20 ร๊อกอะห์จึงมีการปฏิบัติตามกันมา จึงถือได้ว่าจำนวน 20 ร็อกอะฮฺนั้นเป็นการกระทำที่เกิดในสมัยของซ่อฮาบะห์
สาเหตุที่มีการเพิ่มจำนวนร็อกอะฮฺ
     เนื่องจากคำว่า “ตะรอเวี๊ยะห์” แปลว่า หยุดพัก ดังนั้น คนที่ทำละหมาดจึงมีการหยุดพักเป็นระยะ คนที่อยู่มักกะฮ์จึงทำการฏอวาฟในขณะหยุดพัก จึงทำให้คนเมืองอื่นๆ เช่น มะดีนะห์ , อิรัค เป็นต้น ต้องการได้รับความดีมากขึ้น จึงได้เพิ่มจำนวนร็อกอะฮฺขึ้นไป จำนวนร็อกอะฮฺที่เพิ่มขึ้นจนเป็น 20 ร็อกอะฮฺนั้นเกิดขึ้นในสมัยคอลีฟะห์ดังที่กล่าวมาแล้ว จึงถือว่าเป็นการยอมรับของซอฮาบะห์ ส่วนจำนวนอื่นๆ เช่น 36 หรือ  40 เกิดขึ้นในยุคหลังจากซอฮาบะห์ จึงไม่นำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ
เราจะละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ด้วยจำนวนเท่าใด
      สำหรับแนวทางในการนำไปปฏิบัติในเรื่องจำนวนร๊อกอะห์ของการละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ คือ สมควรปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นซุนนะห์ ตามแนวทางที่ท่านนบี (ซ.ล.) ทำไว้ นั่นคือ ละหมาดตะรอเวี๊ยะห์  8 ร๊อกอะห์  รวมกับวิตริอีก 3 ร๊อกอะห์  รวมเป็น 11 ร๊อกอะห์
       ส่วนผู้ที่จะทำละหมาดด้วยจำนวน 20 ร็อกอะฮ์นั้น ก็ถือว่าไม่ผิด  เพราะเป็นสิ่งที่มีการกระทำในยุคของซ่อฮาบะห์  และการกระทำของซ่อฮาบะห์ย่อมถือว่าไม่ผิด
     แต่ก็มีคำถามขึ้นว่า  เพราะเหตุใดเราจึงละทิ้งซุนนะห์ของท่านนบี (ซ.ล) แล้วไปเลือกกระทำตามแนวทางที่ซ่อฮาบะห์เคยทำไว้ หากในยุคของเรามีสภาพเหตุการณ์ที่เหมือนกับในยุคของซ่อฮาบะห์ เราก็อาจเลือกปฏิบัติตามสิ่งที่ซ่อฮาบะห์เคยกระทำไว้ได้ แต่ถ้าไม่มีเหตุผลใดๆ การปฏิบัติให้เหมือนกับที่ท่านนบี (ซ.ล.) กระทำไว้ย่อมดีกว่า
(2) หมายถึง เป็นการกระทำของผู้ตนในช่วงเวลานั้น มิใช่การกระทำของคอลีฟะห์ทั้งสาม แต่ท่านก็รับรู้ และไม่ได้ห้ามปราม ย่อมแสดงว่าสามารถเพิ่มจำนวนร็อกอะฮฺจากที่ท่านนบีทำไว้ได้
  
صـلاة الوتر
การละหมาดวิเต็ร
ละหมาดวิเต็ร เป็นละหมาดที่เน้นส่งเสริมให้กระทำ สามารถทำได้ตลอดทั้งปี เป็นละหมาดที่ท่านนบี (ซ.ล.) กระทำเป็นประจำ ไม่เคยขาด
เวลาของการละหมาดวิเต็ร
เวลาของการละหมาดวิเต็รนั้นเริ่มตั้งแต่หลังละหมาดอิชาอฺไปจนถึงเวลาละหมาดซุบฮิ จะละหมาดตอนไหนก็ได้ แต่สมควรให้ละหมาดวิเต็ร เป็นละหมาดสุดท้ายในค่ำคืนนั้น
สำหรับในเดือนรอมฎอนจะทำละหมาดวิเต็รหลังจากละหมาดตะรอเวี๊ยะห์
จำนวนร็อกอะห์ของละหมาดวิเต็ร
ละหมาดวิเต็รจะมีจำนวนร็อกอะห์เป็นเลขจำนวนคี่ ได้แก่ 1,3,5,7,9,11 ร็อกอะห์  แต่สำหรับในเดือนรอมฎอน มุสลิมส่วนใหญ่มักจะละหมาดวิเต็รด้วยจำนวน 3 ร็อกอะห์ เมื่อรวมกับละหมาดตะรอเวี๊ยะห์   8  ร็อกอะห์ จึงได้เป็น 11 ร็อกอะห์ ตรงตามที่ท่านนบี (ซ.ล.) เคยทำไว้
รูปแบบการปฏิบัติ
แบบที่ 1  ละหมาดทีละ 2  ร็อกอะห์ โดยให้สลาม แล้วจึงละหมาดอีก 1 ร็อกอะห์  เช่น  หากทำละหมาดวิเต็ร 3 ร็อกอะห์  ให้ละหมาด 2 ร็อกอะฮ์ แล้วให้สลาม จากนั้นทำอีก 1 ร็อกอะฮ์  
แบบที่ 2  ละหมาดทั้งหมดโดยมีการนั่งตะชะฮุด 2 ครั้ง และให้สลาม 1 ครั้ง  เช่น 
หากทำละหมาดวิเต็ร  3 ร็อกอะห์ ให้ละหมาดโดยร็อกอะฮ์ที่ 2 ให้นั่งตะชะฮุด แล้วยังไม่ต้องให้สลาม ให้ขึ้นเพื่อทำร็อกอะฮ์ที่  3  จากนั้นจึงให้สลาม     
แบบที่ 3  ละหมาดแบบรวดเดียว ครบตามจำนวน โดยนั่งตะชะฮุดเพียงครั้งเดียวแล้วให้สลาม
การขอดุอาอฺกุนูตในละหมาดวิเต็ร
ได้มีบทบัญญัติให้มีการขอดุอาอฺกุนูตในละหมาดวิเต็ร โดยปรากฏฮะดิษว่า ท่านนบี (ซ.ล.) ได้สอนบทดุอาอฺกุนูตให้แก่ ท่านฮะซัน อิบนิ อาลี  จึงเป็นหลักฐานว่า มีการกุนูต ในละหมาดวิเต็ร และสามารถทำได้ตลอดทุกครั้งที่ละหมาดวิเต็ร
     สำหรับทัศนะที่มีการกุนูต เฉพาะครึ่งหลังของเดือนรอมฎอนนั้น มีรายงานจากการกระทำที่เกิดขึ้นในสมัยค่อลีฟะห์ อุมัร
   การยกมือในตอนกุนูต  นักวิชาการมีความเห็นว่า ส่งเสริมให้ยกมือในการขอดุอาอฺกุนูต แต่บางท่านก็บอกว่า ไม่ต้องยกมือก็ได้ และถ้ายกมือก็ไม่จำเป็นต้องลูบหน้า
ดุอาอฺที่กล่าวหลังจากละหมาดวิเต็ร
سُبْحَانَ الْمَلِكِ الْقُدُّوْسِ
ขอความบริสุทธิ์มีแด่ผู้ทรงอำนาจอันสูงส่ง
ให้กล่าว 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 3 ให้กล่าวเสียงดังขึ้น  หลังจากนั้น ให้กล่าวว่า
رَبُّ الْمَلاَئِكَةِ وَالرُّوْحِ
พระผู้เป็นเจ้าของมะลาอิกะฮฺและญิบรีล

ليلة القدر
คืนอัลก็อดรฺ
       คืนอัลก็อดรฺ หรือที่เรียกกันว่า คืนลัยละตุ้ลก๊อด เป็นค่ำคืนที่มีความประเสริฐมากกว่าคืนอื่นๆ ทั่วไป  ในอัลกุร อานระบุว่ามีความประเสริฐมากกว่าคืนธรรมดาทั่วไป ถึง  1,000  เดือน  ดังนั้น จึงสมควรแสวงหาและทำความดีในค่ำคืนนั้น เช่น การละหมาด และ การขอดุอา เป็นต้น
       ท่านนบี  (ซ.ล.) กล่าวว่า
 قال رسول الله صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : مَنْ قَامَ لَيْلَةَ الْقَدْرِ إِيْمَاناً وَاحْتِسَاباً غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ .[ البخاري ومسلم ]
“ผู้ใดทำละหมาดในคืนลัยล่ะตุ้ลก็อดริ ด้วยการมีศรัทธาเชื่อมั่น และมุ่งหวังการตอบแทน  ความผิดของเขาจะได้รับการอภัย”    (ฮะดีษบุคอรีและมุสลิม)
ค่ำคืนใด คือคืนลัยละตุ้ลก๊อด ?
นักวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นว่า  ตรงกับคืนที่  27  ของเดือนรอมฎอน
แนวทางการปฏิบัติ  เมื่อทราบว่า ความเห็นส่วนใหญ่ของนักวิชาการเห็นว่าตรงกับค่ำคืนที่ 27 ของเดือนรอมฎอนไม่ได้หมายความว่า ให้มุ่งมั่นทำความดี เฉพาะคืนที่ 27 เท่านั้น เพราะในคำสอนตามแนวทางของท่านนบี (ซ.ล.) นั้น ส่งเสริมให้ทำอิบาดะห์ให้เต็มที่ในช่วง 10 วันสุดท้าย  ดังนั้น หากเราปฏิบัติตามแนวทางของท่านนบี ก็จะไม่พลาดคืนลัยละตุ้ลก๊อดอย่างแน่นอน
 ดุอาอฺที่จะกล่าวในค่ำคืนลัยละตุ้ลก๊อดริ
       ท่านหญิงอาอิชะห์ เคยถามท่านนบี (ซ.ล.) ว่าหากนางได้พบกับคืนลัยล่ะตุ้ลก็อดริ นางจะกล่าวดุอาอฺว่าอย่างไร ท่านนบี (ซ.ล.) จึงสอนให้กล่าว ดังนี้
اللَّهُمَّ إِنَّكَ عَفُوٌ تُحِبُّ الْعَفْوَ فَاعْفُ عَنِّي
       โอ้อัลลอฮฺ แท้จริงพระองค์เป็นผู้ทรงอภัย ทรงรักการให้อภัย โปรดอภัยให้ฉันด้วยเถิด

الاعتكاف
การเอี๊ยะติกาฟ
ความหมาย
       การเอี๊ยะติกาฟ หมายถึง การอยู่ประจำกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด และหักห้ามใจตนเองไม่ให้หันเหออกไปจากสิ่งนั้น
       สำหรับความหมายตามบทบัญญัติอิสลาม คือ การอยู่ประจำที่มัสยิดโดยไม่ออกไปไหน ด้วยเจตนาต้องการทำตัวให้ใกล้ชิดอัลลอฮฺด้วยการทำอิบาดะฮฺ และออกห่างจากสิ่งที่เหลวไหลไร้สาระ
       การเอี๊ยะติกาฟ เป็นซุนนะห์ที่ท่านนบี (ซ.ล.) เคยกระทำไว้ โดยท่านได้ทำการการเอี๊ยะติกาฟในช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน และในปีสุดท้ายก่อนที่ท่านจะเสียชีวิตลง ท่านได้ทำการการเอี๊ยะติกาฟเป็นเวลาถึง 20 วัน บรรดาซอฮาบะห์หลายท่านตลอดจนบรรดาภรรยาของท่านนบี ก็เคยทำการเอี๊ยะติกาฟด้วยเช่นกัน
ระยะเวลาของการเอี๊ยะติกาฟ
       ศาสนาไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาที่ตายตัวของการเอี๊ยะติกาฟ แต่ระยะเวลาการเอี๊ยะติกาฟ นั้นจะขึ้นอยู่กับผู้ที่ทำการเอี๊ยะติกาฟเอง เพราะตราบเท่าที่เขายังอยู่ในมัสยิดและมีเหนียตตั้งใจทำการเอี๊ยะติกาฟ ไม่ว่าระยะเวลาจะสั้นหรือยาวนานแค่ไหนก็ตาม ก็ถือว่าเขายังอยู่ในช่วงระยะเวลาของการเอี๊ยะติกาฟ แต่ถ้าเมื่อใดที่เขาออกจากมัสยิดไป หรือเหนียตเลิกการเอี๊ยะติกาฟ ก็ถือว่าสิ้นสุดการเอี๊ยะติกาฟของเขา เมื่อเขากลับเข้ามาใหม่ พร้อมด้วยการเหนียตการเอี๊ยะติกาฟ ก็จะเป็นการเริ่มการเอี๊ยะติกาฟครั้งใหม่
เงื่อนไขของตัวบุคคลที่จะทำการเอี๊ยะติกาฟ
       เงื่อนไขของตัวบุคคลที่จะทำการเอี๊ยะติกาฟ มีดังนี้
1) เป็นมุสลิม     
2) มีอายุโตพอรู้เรื่องสามารถแยกแยะสิ่งต่างๆได้
3) มีความสะอาดจากฮะดัษใหญ่
องค์ประกอบของการเอี๊ยะติกาฟ
การเอี๊ยะติกาฟจะเกิดขึ้นได้ต้องมีองค์ประกอบ 2 ประการ คือ
1. มีการเหนียต
2. มีการอยู่ประจำในมัสยิด
มัสยิดทุกแห่งที่มีการละหมาดประจำ 5 เวลา สามารถเข้าทำเอี๊ยะติกาฟได้
สิ่งที่ส่งเสริมให้ผู้ทำการเอี๊ยะติกาฟกระทำ
1)    ทำอิบาดะฮฺให้มากๆ เช่น ละหมาดซุนนะห์ , อ่านอัลกุรอาน , กล่าวซิกรุ้ลลอฮฺ , กล่าวซอลาวาตท่านนบี , การขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ เป็นต้น
2)   ศึกษาหาความรู้ เช่น เรียนฮะดีษ , ตัฟซีร หรือวิชาการอื่นๆที่เป็นประโยชน์
สิ่งที่ไม่สมควรกระทำในขณะการเอี๊ยะติกาฟ
       ได้แก่ คำพูด หรือ การกระทำที่ไร้สาระไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ
สิ่งที่ผ่อนผันให้กระทำได้ในขณะทำการเอี๊ยะติกาฟ
      1. ออกจากมัสยิดเมื่อมีเหตุจำเป็น เช่น เข้าห้องน้ำเพื่อขับถ่าย
      2. ออกจากมัสยิดเพื่อรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ ในกรณีที่ไม่สามารถนำอาหารเข้าไปในมัสยิดได้
       3. การกิน การดื่ม การนอนในมัสยิด
       4. การทำความสะอาดร่างกาย , อาบน้ำ , หวีผม , ตัดเล็บ
       5. การสวมใส่เสื้อผ้าที่สวยงาม , การใส่เครื่องหอม
สิ่งที่ทำให้เสียการเอี๊ยะติกาฟ
1) เจตนาออกจากมัสยิดโดยไม่มีเหตุจำเป็น
2) เสียสติ , มึนเมา , หมดสติ
3) มีเลือดประจำเดือน หรือ เลือดนิฟาส
4) การร่วมประเวณี

زكاة الفطر
ซะกาตุ้ลฟิตริ 
  ซะกาตุ้ลฟิตริ หรือที่เรียกกันว่า ซะกาตฟิตเราะฮฺ หมายถึง ซะกาตที่มุสลิมทุกคนที่มีความสามารถจ่ายได้จะต้องจ่ายออกไปก่อนการละหมาดอีด อีดิ้ลฟิตริ
เป้าหมายของซะกาตุ้ลฟิตริ
เพื่อให้ผู้ถือศีล-อดมีความบริสุทธิ์จากข้อตำหนิ หรือข้อบกพร่องต่างในช่วงการถือศีล-อดของเขา
เพื่อเป็นสิ่งช่วยเหลือให้แก่ผู้ที่ยากจน
สิ่งที่กำหนดให้จ่ายเป็นซะกาตุ้ลฟิตริ
       ตามตัวบทฮะดีษที่กำหนดไว้ มีดังต่อไปนี้ คือ
ข้าวสาลี , ข้าวฟ่าง , อินทผาลัม , องุ่นแห้ง (ลูกเกด) , นมตากแห้ง
       จากสิ่งที่กำหนดมาดังกล่าว ทำให้เข้าใจได้ว่า สิ่งที่จะจ่ายเป็นซะกาตุ้ลฟิตร คือ สิ่งที่เป็นอาหารหลักของผู้คนทั้งหลาย ดังนั้น จึงสามารถใช้หลักการกิยาส (เทียบเคียง) จึงสามารถจ่ายซะกาตุ้ลฟิตริด้วยสิ่งที่เป็นอาหารหลักของแต่ละท้องถิ่นได้ เช่น ข้าวสาร ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว เป็นต้น
ปริมาณที่ต้องจ่าย
       ปริมาณที่ศาสนากำหนดให้จ่าย คือ 1 ซออฺ (ด้วยการตวง)            
1 ซออฺ      เท่ากับ    4   มุด
                        1 มุด         เท่ากับ    4  กอบมือ
       ดังนั้น ข้าวสาลีตวงแล้ว 1 ซออฺ จะได้น้ำหนัก ประมาณ 2.2 ก.ก. แต่ถ้าเป็นข้าวสาร จะชั่งได้ประมาณ 2.3 ก.ก. ( สามารถเกินเลยไปบ้างได้ เช่น 2.4 หรือ 2.5 ก.ก.) เพราะการจ่ายซะกาต เกินกว่ากว่าเกณฑ์ที่กำหนดเป็นสิ่งที่อนุญาตให้กระทำได้
เวลาในการจ่ายซะกาตุ้ลฟิตริ
       เวลาที่กำหนดว่าจำเป็นต้องจ่าย คือ ก่อนละหมาดอีด แต่สามารถจ่ายในช่วงท้ายของเดือนรอมฎอนก็ได้ เช่น ก่อนวันอีด 1 - 2 วัน
ผู้รับซะกาตุ้ลฟิตริ
       ในอัลกุรอานซูเราะห์ อัตเตาบะฮฺ อายะห์ที่ 60 ระบุไว้เกี่ยวกับผู้รับซะกาตจะมีบุคคลอยู่ 8 ประเภท คือ
1) คนยากจน  2) คนขัดสน  3) เจ้าหน้าที่จัดการเรื่องซะกาต  4)  คนมุอัลลัฟ,ผู้สนใจอิสลาม   5) ทาส     6) ผู้มีหนี้สิน   7) ในหนทางของศาสนา    8)  ผู้เดินทาง (ที่เกิดปัญหาขาดเงินในระหว่างการเดินทาง)
       นักวิชาการเห็นว่า ซะกาตุ้ลฟิตรก็เป็นซะกาตชนิดหนึ่ง จึงสามารถจ่ายให้แก่บุคคลใดใน 8 ประเภทนี้ก็ได้ แต่ในตัวบทฮะดีษจากท่านนบี (ซ.ล.) ท่านได้กล่าวถึงว่า ซะกาตุ้ลฟิตริ เป็นการให้อาหารแก่คนยากจน ดังนั้น จึงสมควรพิจารณาจ่ายซะกาตุ้ลฟิตรให้แก่คนยากจนเป็นอันดับแรก เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ท่านนบี (ซ.ล.) กล่าวไว้ หากไม่พบจึงพิจารณาบุคคลอื่นๆต่อไป
การจ่ายซะกาตุ้ลฟิตริด้วยมูลค่าเทียบเท่า
       ท่านอิหม่ามอบูฮะนีฟะห์ (เจ้าของมัสฮับฮานาฟี) มีความเห็นว่า สามารถจ่ายซะกาตต่างๆ ด้วยมูลค่าเทียบเท่าได้ โดยพิจารณาจากจากหลักฐาน ดังนี้
       (1) จากฮะดีษของท่านนบี (ซ.ล.) ท่านได้กล่าวในเรื่องซะกาตุ้ลฟิตริว่า
أغنوهم – أي المساكين – في هذا اليوم
ให้คนยากจนได้เกิดความเพียงพอในวันนั้น
       พิจารณาจากตัวบทนี้แล้ว สามารถเข้าใจได้ว่า การจ่ายซะกาตุ้ลฟิตริด้วยมูลค่าเทียบเท่านั้น สามารถทำให้คนยากจนเกิดความเพียงพอในวันนั้นได้ จึงไม่ผิดไปจากเป้าประสงค์ของเรื่องซะกาต
       (2) จากการกระทำของซอฮาบะห์ การที่ซอฮาบะห์อนุญาตให้จ่ายซะกาตด้วยข้าวสาลีเพียง ครึ่งซออฺได้ โดยถือว่าเทียบเท่าอย่างอื่นในปริมาณ 1 ซออฺ เช่น อินทผาลัม , ข้าวฟ่าง นั่นแสดงว่า อนุญาตจ่ายซะกาตในสิ่งที่เทียบเท่าในมูลค่าได้ได้
       และด้วยความเข้าใจดังกล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า ท่านมุอาวิยะห์จึงได้กล่าวว่า “ข้าวสาลีของชาวแค้นชามเพียง 2 มุด ก็เทียบเท่าอินทผาลัม 1 ซออฺ” 
แนวทางการปฏิบัติในการจ่ายซะกาตุ้ลฟิตริ
       ให้พิจารณาถึงประโยชน์สูงสุดที่ผู้รับซะกาตพึงจะได้รับ หากเห็นว่า สำหรับเขาจ่ายเป็นอาหารจะดีกว่าก็สามารถกระทำได้ แต่ถ้าเห็นว่าจ่ายด้วยสิ่งที่เป็นมูลค่าเทียบเท่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้รับ ก็สามารถทำได้ เพราะในยุคของซอฮาบะห์ ก็เคยเข้าใจและปฏิบัติอย่างนี้ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น