(2) หมายถึง เป็นการกระทำของผู้ตนในช่วงเวลานั้น มิใช่การกระทำของคอลีฟะห์ทั้งสาม แต่ท่านก็รับรู้ และไม่ได้ห้ามปราม ย่อมแสดงว่าสามารถเพิ่มจำนวนร็อกอะฮฺจากที่ท่านนบีทำไว้ได้
صـلاة الوتر
การละหมาดวิเต็ร
ละหมาดวิเต็ร เป็นละหมาดที่เน้นส่งเสริมให้กระทำ สามารถทำได้ตลอดทั้งปี เป็นละหมาดที่ท่านนบี (ซ.ล.) กระทำเป็นประจำ ไม่เคยขาด
เวลาของการละหมาดวิเต็ร
เวลาของการละหมาดวิเต็รนั้นเริ่มตั้งแต่หลังละหมาดอิชาอฺไปจนถึงเวลาละหมาดซุบฮิ จะละหมาดตอนไหนก็ได้ แต่สมควรให้ละหมาดวิเต็ร เป็นละหมาดสุดท้ายในค่ำคืนนั้น
สำหรับในเดือนรอมฎอนจะทำละหมาดวิเต็รหลังจากละหมาดตะรอเวี๊ยะห์
จำนวนร็อกอะห์ของละหมาดวิเต็ร
ละหมาดวิเต็รจะมีจำนวนร็อกอะห์เป็นเลขจำนวนคี่ ได้แก่ 1,3,5,7,9,11 ร็อกอะห์ แต่สำหรับในเดือนรอมฎอน มุสลิมส่วนใหญ่มักจะละหมาดวิเต็รด้วยจำนวน 3 ร็อกอะห์ เมื่อรวมกับละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ 8 ร็อกอะห์ จึงได้เป็น 11 ร็อกอะห์ ตรงตามที่ท่านนบี (ซ.ล.) เคยทำไว้
รูปแบบการปฏิบัติ
แบบที่ 1 ละหมาดทีละ 2 ร็อกอะห์ โดยให้สลาม แล้วจึงละหมาดอีก 1 ร็อกอะห์ เช่น หากทำละหมาดวิเต็ร 3 ร็อกอะห์ ให้ละหมาด 2 ร็อกอะฮ์ แล้วให้สลาม จากนั้นทำอีก 1 ร็อกอะฮ์
แบบที่ 2 ละหมาดทั้งหมดโดยมีการนั่งตะชะฮุด 2 ครั้ง และให้สลาม 1 ครั้ง เช่น
หากทำละหมาดวิเต็ร 3 ร็อกอะห์ ให้ละหมาดโดยร็อกอะฮ์ที่ 2 ให้นั่งตะชะฮุด แล้วยังไม่ต้องให้สลาม ให้ขึ้นเพื่อทำร็อกอะฮ์ที่ 3 จากนั้นจึงให้สลาม
แบบที่ 3 ละหมาดแบบรวดเดียว ครบตามจำนวน โดยนั่งตะชะฮุดเพียงครั้งเดียวแล้วให้สลาม
การขอดุอาอฺกุนูตในละหมาดวิเต็ร
ได้มีบทบัญญัติให้มีการขอดุอาอฺกุนูตในละหมาดวิเต็ร โดยปรากฏฮะดิษว่า ท่านนบี (ซ.ล.) ได้สอนบทดุอาอฺกุนูตให้แก่ ท่านฮะซัน อิบนิ อาลี จึงเป็นหลักฐานว่า มีการกุนูต ในละหมาดวิเต็ร และสามารถทำได้ตลอดทุกครั้งที่ละหมาดวิเต็ร
สำหรับทัศนะที่มีการกุนูต เฉพาะครึ่งหลังของเดือนรอมฎอนนั้น มีรายงานจากการกระทำที่เกิดขึ้นในสมัยค่อลีฟะห์ อุมัร
การยกมือในตอนกุนูต นักวิชาการมีความเห็นว่า ส่งเสริมให้ยกมือในการขอดุอาอฺกุนูต แต่บางท่านก็บอกว่า ไม่ต้องยกมือก็ได้ และถ้ายกมือก็ไม่จำเป็นต้องลูบหน้า
ดุอาอฺที่กล่าวหลังจากละหมาดวิเต็ร
سُبْحَانَ الْمَلِكِ الْقُدُّوْسِ
ขอความบริสุทธิ์มีแด่ผู้ทรงอำนาจอันสูงส่ง
ให้กล่าว 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 3 ให้กล่าวเสียงดังขึ้น หลังจากนั้น ให้กล่าวว่า
رَبُّ الْمَلاَئِكَةِ وَالرُّوْحِ
พระผู้เป็นเจ้าของมะลาอิกะฮฺและญิบรีล
ليلة القدر
คืนอัลก็อดรฺ
คืนอัลก็อดรฺ หรือที่เรียกกันว่า คืนลัยละตุ้ลก๊อด เป็นค่ำคืนที่มีความประเสริฐมากกว่าคืนอื่นๆ ทั่วไป ในอัลกุร อานระบุว่ามีความประเสริฐมากกว่าคืนธรรมดาทั่วไป ถึง 1,000 เดือน ดังนั้น จึงสมควรแสวงหาและทำความดีในค่ำคืนนั้น เช่น การละหมาด และ การขอดุอา เป็นต้น
ท่านนบี (ซ.ล.) กล่าวว่า
قال رسول الله صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : مَنْ قَامَ لَيْلَةَ الْقَدْرِ إِيْمَاناً وَاحْتِسَاباً غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ .[ البخاري ومسلم ]
“ผู้ใดทำละหมาดในคืนลัยล่ะตุ้ลก็อดริ ด้วยการมีศรัทธาเชื่อมั่น และมุ่งหวังการตอบแทน ความผิดของเขาจะได้รับการอภัย” (ฮะดีษบุคอรีและมุสลิม)
ค่ำคืนใด คือคืนลัยละตุ้ลก๊อด ?
นักวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ตรงกับคืนที่ 27 ของเดือนรอมฎอน
แนวทางการปฏิบัติ เมื่อทราบว่า ความเห็นส่วนใหญ่ของนักวิชาการเห็นว่าตรงกับค่ำคืนที่ 27 ของเดือนรอมฎอนไม่ได้หมายความว่า ให้มุ่งมั่นทำความดี เฉพาะคืนที่ 27 เท่านั้น เพราะในคำสอนตามแนวทางของท่านนบี (ซ.ล.) นั้น ส่งเสริมให้ทำอิบาดะห์ให้เต็มที่ในช่วง 10 วันสุดท้าย ดังนั้น หากเราปฏิบัติตามแนวทางของท่านนบี ก็จะไม่พลาดคืนลัยละตุ้ลก๊อดอย่างแน่นอน
ดุอาอฺที่จะกล่าวในค่ำคืนลัยละตุ้ลก๊อดริ
ท่านหญิงอาอิชะห์ เคยถามท่านนบี (ซ.ล.) ว่าหากนางได้พบกับคืนลัยล่ะตุ้ลก็อดริ นางจะกล่าวดุอาอฺว่าอย่างไร ท่านนบี (ซ.ล.) จึงสอนให้กล่าว ดังนี้
اللَّهُمَّ إِنَّكَ عَفُوٌ تُحِبُّ الْعَفْوَ فَاعْفُ عَنِّي
โอ้อัลลอฮฺ แท้จริงพระองค์เป็นผู้ทรงอภัย ทรงรักการให้อภัย โปรดอภัยให้ฉันด้วยเถิด
الاعتكاف
การเอี๊ยะติกาฟ
ความหมาย
การเอี๊ยะติกาฟ หมายถึง การอยู่ประจำกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด และหักห้ามใจตนเองไม่ให้หันเหออกไปจากสิ่งนั้น
สำหรับความหมายตามบทบัญญัติอิสลาม คือ การอยู่ประจำที่มัสยิดโดยไม่ออกไปไหน ด้วยเจตนาต้องการทำตัวให้ใกล้ชิดอัลลอฮฺด้วยการทำอิบาดะฮฺ และออกห่างจากสิ่งที่เหลวไหลไร้สาระ
การเอี๊ยะติกาฟ เป็นซุนนะห์ที่ท่านนบี (ซ.ล.) เคยกระทำไว้ โดยท่านได้ทำการการเอี๊ยะติกาฟในช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน และในปีสุดท้ายก่อนที่ท่านจะเสียชีวิตลง ท่านได้ทำการการเอี๊ยะติกาฟเป็นเวลาถึง 20 วัน บรรดาซอฮาบะห์หลายท่านตลอดจนบรรดาภรรยาของท่านนบี ก็เคยทำการเอี๊ยะติกาฟด้วยเช่นกัน
ระยะเวลาของการเอี๊ยะติกาฟ
ศาสนาไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาที่ตายตัวของการเอี๊ยะติกาฟ แต่ระยะเวลาการเอี๊ยะติกาฟ นั้นจะขึ้นอยู่กับผู้ที่ทำการเอี๊ยะติกาฟเอง เพราะตราบเท่าที่เขายังอยู่ในมัสยิดและมีเหนียตตั้งใจทำการเอี๊ยะติกาฟ ไม่ว่าระยะเวลาจะสั้นหรือยาวนานแค่ไหนก็ตาม ก็ถือว่าเขายังอยู่ในช่วงระยะเวลาของการเอี๊ยะติกาฟ แต่ถ้าเมื่อใดที่เขาออกจากมัสยิดไป หรือเหนียตเลิกการเอี๊ยะติกาฟ ก็ถือว่าสิ้นสุดการเอี๊ยะติกาฟของเขา เมื่อเขากลับเข้ามาใหม่ พร้อมด้วยการเหนียตการเอี๊ยะติกาฟ ก็จะเป็นการเริ่มการเอี๊ยะติกาฟครั้งใหม่
เงื่อนไขของตัวบุคคลที่จะทำการเอี๊ยะติกาฟ
เงื่อนไขของตัวบุคคลที่จะทำการเอี๊ยะติกาฟ มีดังนี้
1) เป็นมุสลิม
2) มีอายุโตพอรู้เรื่องสามารถแยกแยะสิ่งต่างๆได้
3) มีความสะอาดจากฮะดัษใหญ่
องค์ประกอบของการเอี๊ยะติกาฟ
การเอี๊ยะติกาฟจะเกิดขึ้นได้ต้องมีองค์ประกอบ 2 ประการ คือ
1. มีการเหนียต
2. มีการอยู่ประจำในมัสยิด
มัสยิดทุกแห่งที่มีการละหมาดประจำ 5 เวลา สามารถเข้าทำเอี๊ยะติกาฟได้
สิ่งที่ส่งเสริมให้ผู้ทำการเอี๊ยะติกาฟกระทำ
1) ทำอิบาดะฮฺให้มากๆ เช่น ละหมาดซุนนะห์ , อ่านอัลกุรอาน , กล่าวซิกรุ้ลลอฮฺ , กล่าวซอลาวาตท่านนบี , การขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ เป็นต้น
2) ศึกษาหาความรู้ เช่น เรียนฮะดีษ , ตัฟซีร หรือวิชาการอื่นๆที่เป็นประโยชน์
สิ่งที่ไม่สมควรกระทำในขณะการเอี๊ยะติกาฟ
ได้แก่ คำพูด หรือ การกระทำที่ไร้สาระไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ
สิ่งที่ผ่อนผันให้กระทำได้ในขณะทำการเอี๊ยะติกาฟ
1. ออกจากมัสยิดเมื่อมีเหตุจำเป็น เช่น เข้าห้องน้ำเพื่อขับถ่าย
2. ออกจากมัสยิดเพื่อรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ ในกรณีที่ไม่สามารถนำอาหารเข้าไปในมัสยิดได้
3. การกิน การดื่ม การนอนในมัสยิด
4. การทำความสะอาดร่างกาย , อาบน้ำ , หวีผม , ตัดเล็บ
5. การสวมใส่เสื้อผ้าที่สวยงาม , การใส่เครื่องหอม
สิ่งที่ทำให้เสียการเอี๊ยะติกาฟ
1) เจตนาออกจากมัสยิดโดยไม่มีเหตุจำเป็น
2) เสียสติ , มึนเมา , หมดสติ
3) มีเลือดประจำเดือน หรือ เลือดนิฟาส
4) การร่วมประเวณี
زكاة الفطر
ซะกาตุ้ลฟิตริ
ซะกาตุ้ลฟิตริ หรือที่เรียกกันว่า ซะกาตฟิตเราะฮฺ หมายถึง ซะกาตที่มุสลิมทุกคนที่มีความสามารถจ่ายได้จะต้องจ่ายออกไปก่อนการละหมาดอีด อีดิ้ลฟิตริ
เป้าหมายของซะกาตุ้ลฟิตริ
เพื่อให้ผู้ถือศีล-อดมีความบริสุทธิ์จากข้อตำหนิ หรือข้อบกพร่องต่างในช่วงการถือศีล-อดของเขา
เพื่อเป็นสิ่งช่วยเหลือให้แก่ผู้ที่ยากจน
สิ่งที่กำหนดให้จ่ายเป็นซะกาตุ้ลฟิตริ
ตามตัวบทฮะดีษที่กำหนดไว้ มีดังต่อไปนี้ คือ
ข้าวสาลี , ข้าวฟ่าง , อินทผาลัม , องุ่นแห้ง (ลูกเกด) , นมตากแห้ง
จากสิ่งที่กำหนดมาดังกล่าว ทำให้เข้าใจได้ว่า สิ่งที่จะจ่ายเป็นซะกาตุ้ลฟิตร คือ สิ่งที่เป็นอาหารหลักของผู้คนทั้งหลาย ดังนั้น จึงสามารถใช้หลักการกิยาส (เทียบเคียง) จึงสามารถจ่ายซะกาตุ้ลฟิตริด้วยสิ่งที่เป็นอาหารหลักของแต่ละท้องถิ่นได้ เช่น ข้าวสาร ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว เป็นต้น
ปริมาณที่ต้องจ่าย
ปริมาณที่ศาสนากำหนดให้จ่าย คือ 1 ซออฺ (ด้วยการตวง)
1 ซออฺ เท่ากับ 4 มุด
1 มุด เท่ากับ 4 กอบมือ
ดังนั้น ข้าวสาลีตวงแล้ว 1 ซออฺ จะได้น้ำหนัก ประมาณ 2.2 ก.ก. แต่ถ้าเป็นข้าวสาร จะชั่งได้ประมาณ 2.3 ก.ก. ( สามารถเกินเลยไปบ้างได้ เช่น 2.4 หรือ 2.5 ก.ก.) เพราะการจ่ายซะกาต เกินกว่ากว่าเกณฑ์ที่กำหนดเป็นสิ่งที่อนุญาตให้กระทำได้
เวลาในการจ่ายซะกาตุ้ลฟิตริ
เวลาที่กำหนดว่าจำเป็นต้องจ่าย คือ ก่อนละหมาดอีด แต่สามารถจ่ายในช่วงท้ายของเดือนรอมฎอนก็ได้ เช่น ก่อนวันอีด 1 - 2 วัน
ผู้รับซะกาตุ้ลฟิตริ
ในอัลกุรอานซูเราะห์ อัตเตาบะฮฺ อายะห์ที่ 60 ระบุไว้เกี่ยวกับผู้รับซะกาตจะมีบุคคลอยู่ 8 ประเภท คือ
1) คนยากจน 2) คนขัดสน 3) เจ้าหน้าที่จัดการเรื่องซะกาต 4) คนมุอัลลัฟ,ผู้สนใจอิสลาม 5) ทาส 6) ผู้มีหนี้สิน 7) ในหนทางของศาสนา 8) ผู้เดินทาง (ที่เกิดปัญหาขาดเงินในระหว่างการเดินทาง)
นักวิชาการเห็นว่า ซะกาตุ้ลฟิตรก็เป็นซะกาตชนิดหนึ่ง จึงสามารถจ่ายให้แก่บุคคลใดใน 8 ประเภทนี้ก็ได้ แต่ในตัวบทฮะดีษจากท่านนบี (ซ.ล.) ท่านได้กล่าวถึงว่า ซะกาตุ้ลฟิตริ เป็นการให้อาหารแก่คนยากจน ดังนั้น จึงสมควรพิจารณาจ่ายซะกาตุ้ลฟิตรให้แก่คนยากจนเป็นอันดับแรก เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ท่านนบี (ซ.ล.) กล่าวไว้ หากไม่พบจึงพิจารณาบุคคลอื่นๆต่อไป
การจ่ายซะกาตุ้ลฟิตริด้วยมูลค่าเทียบเท่า
ท่านอิหม่ามอบูฮะนีฟะห์ (เจ้าของมัสฮับฮานาฟี) มีความเห็นว่า สามารถจ่ายซะกาตต่างๆ ด้วยมูลค่าเทียบเท่าได้ โดยพิจารณาจากจากหลักฐาน ดังนี้
(1) จากฮะดีษของท่านนบี (ซ.ล.) ท่านได้กล่าวในเรื่องซะกาตุ้ลฟิตริว่า
أغنوهم – أي المساكين – في هذا اليوم
ให้คนยากจนได้เกิดความเพียงพอในวันนั้น
พิจารณาจากตัวบทนี้แล้ว สามารถเข้าใจได้ว่า การจ่ายซะกาตุ้ลฟิตริด้วยมูลค่าเทียบเท่านั้น สามารถทำให้คนยากจนเกิดความเพียงพอในวันนั้นได้ จึงไม่ผิดไปจากเป้าประสงค์ของเรื่องซะกาต
(2) จากการกระทำของซอฮาบะห์ การที่ซอฮาบะห์อนุญาตให้จ่ายซะกาตด้วยข้าวสาลีเพียง ครึ่งซออฺได้ โดยถือว่าเทียบเท่าอย่างอื่นในปริมาณ 1 ซออฺ เช่น อินทผาลัม , ข้าวฟ่าง นั่นแสดงว่า อนุญาตจ่ายซะกาตในสิ่งที่เทียบเท่าในมูลค่าได้ได้
และด้วยความเข้าใจดังกล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า ท่านมุอาวิยะห์จึงได้กล่าวว่า “ข้าวสาลีของชาวแค้นชามเพียง 2 มุด ก็เทียบเท่าอินทผาลัม 1 ซออฺ”
แนวทางการปฏิบัติในการจ่ายซะกาตุ้ลฟิตริ
ให้พิจารณาถึงประโยชน์สูงสุดที่ผู้รับซะกาตพึงจะได้รับ หากเห็นว่า สำหรับเขาจ่ายเป็นอาหารจะดีกว่าก็สามารถกระทำได้ แต่ถ้าเห็นว่าจ่ายด้วยสิ่งที่เป็นมูลค่าเทียบเท่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้รับ ก็สามารถทำได้ เพราะในยุคของซอฮาบะห์ ก็เคยเข้าใจและปฏิบัติอย่างนี้ด้วย